เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ 5. ปุปผวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อม
ครอบงำกามราคะ รูปราคะ ภวราคะ และอวิชชาทั้งปวงได้ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้
อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงครอบงำกามราคะ
ทั้งปวงได้ ฯลฯ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้
คือ อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ... สัญญาเป็นดังนี้
... สังขารเป็นดังนี้ ... วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้
ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อม
ครอบงำกามราคะ รูปราคะ ภวราคะ และอวิชชาทั้งปวงได้ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้”

อนิจจสัญญาสูตรที่ 10 จบ
ปุปผวรรคที่ 5 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. นทีสูตร 2. ปุปผสูตร
3. เผณปิณฑูปมสูตร 4. โคมยปิณฑสูตร
5. นขสิขาสูตร 6. สุทธิกสูตร
7. คัททูลพัทธสูตร 8. ทุติยคัททูลพัทธสูตร
9. วาสิชฏสูตร 10. อนิจจสัญญาสูตร

มัชฌิมปัณณาสก์ จบบริบูรณ์

รวมวรรคที่มีในมัชฌิมปัณณาสก์นี้ คือ

1. อุปยวรรค 2. อรหันตวรรค
3. ขัชชนียวรรค 4. เถรวรรค
5. ปุปผวรรค

รวม 5 วรรค เรียกว่า ทุติยปัณณาสก์


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ 1. อันตวรรค 1. อันตสูตร

จูฬปัณณาสก์
1. อันตวรรค
หมวดว่าด้วยที่สุด
1. อันตสูตร
ว่าด้วยที่สุด

[103] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ที่สุด 4 อย่าง คือ
1. ที่สุดคือสักกายะ (กายของตน)
2. ที่สุดคือเหตุเกิดแห่งสักกายะ
3. ที่สุดคือความดับแห่งสักกายะ
4. ที่สุดคือปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสักกายะ
ที่สุดคือสักกายะ เป็นอย่างไร
คือ ควรกล่าวได้ว่า ‘ที่สุดคือสักกายะนั้น ได้แก่ อุปาทานขันธ์ 5 ประการ’
อุปาทานขันธ์ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป)
2. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา)
3. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา)
4. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร)
5. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)
นี้เรียกว่า ที่สุดคือสักกายะ
ที่สุดคือเหตุเกิดแห่งสักกายะ เป็นอย่างไร
คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และความกำหนัด
มีปกติเพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :198 }